วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

ความฉลาดทางอารมณ์ต่อการศึกษา

ความฉลาดทางอารมณ์ต่อการศึกษา
โดยทั่วไปถ้าพูดถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กเรียนดี พ่อแม่อาจจะนึกถึงการเรียนพิเศษในวิชายากๆ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ เราเคยเชื่อว่าถ้าทุ่มเทเวลาให้กับการอ่านหนังสือมีโอกาสกวดวิชาเหล่านั้นจากอาจารย์เก่ง ๆ เด็ก ๆ ก็จะมีผลการเรียนที่ดีขึ้นและสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
ในโลกของความเป็นจริง การที่เด็กจะเรียนดี มีอนาคตที่ดี นอกจากความสามารถทางวิชาการแล้ว ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ อีกมากโดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เผชิญปัญหาทางด้านอารมณ์ความรู้สึก จนทำให้เสียโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ปัญหายาเสพติดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือปัญหาด้านพฤติกรรมอื่น ๆ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้มีที่มาจากความอ่อนแอทางเชาวน์ปัญญา แต่มาจากความอ่อนแอทางอารมณ์ ที่ไม่สามารถรู้เท่าทันและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
โรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา มีการขายชื่อนักเรียนในชั้นด้วยวิธีแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ด้วยการให้นักเรียนบอกความรู้สึกของตนเองในขณะนั้น เช่น วันนี้อารมณ์ดีตื่นเต้น กังวลเล็กน้อย หรือมีความสุข แทนการตอบว่ามาหรือไม่มา
กิจกรรมนี้เรียกว่า Self – Science เป็นวิชาเกี่ยวกับความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่น ครูจะให้ความสนใจกับประสบการณ์ทางอารมณ์ของเด็ก มีการนำความเครียดและประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นหัวข้อที่จะพูดคุยกันในแต่ละวัน
จุดมุ่งหมายในการสอนวิชานี้ คือ เพื่อพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมหลักสูตรนี้ไม่ได้สอนเฉพาะเด็กที่มีปัญหาเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาทักษะและความเข้าใจที่มีความสำคัญกับเด็ก ๆ ทุกคน โดยมีแนวคิดว่าผู้เรียนจะเข้าใจบทเรียนได้อย่างลึกซึ้งเมื่อมีประสบการณ์โดยตรงมากกว่ารับฟังจากการสอนเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบัน มีการนำหลักสูตรนี้มาใช้ในการป้องกันปัญหาด้านต่าง ๆ ในสถานศึกษา เช่น การสูบบุหรี่ในเด็กวัยรุ่น การใช้สารเสพติด การตั้งครรภ์ในวัยเรียน การออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดรวมถึงการมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม การนำความรู้เกี่ยวกับอารมณ์เข้ามาสอนในโรงเรียน ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน โครงการนี้ จึงต้องใช้นักจิตวิทยาเป็นผู้สอนแต่คาดว่าต่อไปจะมีการถ่ายทอดและฝึกหัดให้ครูทั่วไปในโรงเรียนสามารถดำเนินการได้เอง เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากอารมณ์และความรู้สึก ที่ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องหมดอนาคตทางการเรียนไปอย่างน่าเสียดาย
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าความฉลาดทางอารมณ์มีผลต่อการเรียน ดังเช่น งานวิจัยของจอห์น กอตต์แมน นักจิตวิทยา เคยศึกษาถึงผลการสอนทักษะความฉลาดทางอารมณ์ต่อการเรียนของเด็ก รวบรวมข้อมูลจาก ๕๖ ครอบครัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ แล้วติดตามผลอยู่หลายปี ปรากฎว่าในกลุ่มที่พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบเน้นทักษะทางอารมณ์เด็กจะมีผลการเรียนที่ดีกว่า ถึงแม้ว่าจะมีระดับไอคิวใกล้เคียงกันก็ตาม ที่สำคัญเด็กในกลุ่มดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ ครู และเพื่อน ๆ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ปรับตัวกับปัญหาความขัดแย้ง ความโกรธความเครียดได้ดี และมีความสุขในการดำเนินชีวิต
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของความฉลาดทางอารมณ์ที่มีผลต่อการศึกษา คือ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ทำการศึกษาย้อนหลังเกี่ยวกับความสำเร็จในการทำงาน โดยศึกษาจากผู้เรียนจบในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ จำนวน ๙๕ คน เป็นการศึกษาระยะยาวติดตามจนถึงวัยกลางคน พบว่านักศึกษาที่เรียนจบและได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสูง ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการงานและครอบครัวน้อยกว่านักศึกษาที่ได้คะแนนต่ำกว่า ยังมีการศึกษาที่แสดงว่าความสำเร็จด้านต่าง ๆ นั้น เป็นผลมาจากความฉลาดทางอารมณ์ถึง ๘๐% ส่วนอีก ๒๐% เป็นผลมาจากความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา

เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในสถานศึกษา
๑. ประชาธิปไตยในการเรียน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย มีความอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น มีความเคารพในกันและกัน ครูรับฟังผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนเห็นว่าความรู้สึกของตนเป็นที่รับฟัง ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีความหมาย หรือไร้คนสนใจ
๒. เรียนรู้เรื่องอารมณ์ หน้าที่ของครูอาจารย์ในการพัฒนาความลาดทางอารมณ์ คือ การช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความรู้สึก อารมณ์ของตน มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับบุคคลและสถานที่ และมีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
๓. เริ่มต้นให้ดี เริ่มที่ครู การเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือการที่ครูอาจารย์ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้เรียน โดยการทำในสิ่งที่ตนเองพร่ำสอน เช่นเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก บุคลิกลักษณะของตนเองระมัดระวังคำพูดและการแสดงอารมณ์ให้เหมาะสมอยู่เสมอ
ความฉลาดทางอารมณ์ต่อตนเอง
เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า จิตใจมีผลต่อร่างกาย และความเครียดคือบ่อเกิดที่สำคัญของโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไมเกรน ความดันโลหิตสูง ไปจนถึงโรคร้ายอย่างมะเร็ง เพราะเมื่อเรามีอารมณ์ดี ก็จะส่งผลดีให้ร่างกายแข็งแรงตามไปด้วย ตรงกันข้ามเมื่อเราเครียด วิตกกังวล หดหู่ เศร้าซึม ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะลดระดับลงทำให้ง่ายที่จะติดเชื้อ หรือเจ็บไข้ไม่สบาย
คนอารมณ์ดี ยังเป็นคนมีเสน่ห์ใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้ ตรงข้ามกับคนที่มักเคร่งเครียด หงุดหงิด เจ้าอารมณ์ ผู้คนก็ไม่อยากจะเกี่ยวข้อง
ความฉลาดทางอารมณ์ยังช่วยให้คนมองโลกในแง่ดี มีความสุข มีความพอใจและยอมรับได้กับสภาพที่เป็นอยู่ แม้ว่าสภาพนั้นอาจไม่เป็นที่พึงปรารถนาเพียงใดก็ตาม
เลน่า มาเรีย คลิงวัลล์ นักร้อง นักกีฬาพิการที่มีชื่อเสียงของสวีเดน เลน่าไม่มีแขนทั้งสองข้าง และขาซ้ายก็ยาวเพียงครึ่งหนึ่งของขวามาตั้งแต่เกิด แต่เธอเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในด้านการงานและครอบครัว เธอจบการศึกษาจากวิทยาลัยการดนตรี ในกรุงสต็อกโฮล์ม เป็นนักร้องชื่อดัง ที่มีผลงานหลายอัลบั้ม เธอเรียนว่ายน้ำตั้งแต่ อายุ ๓ ขวบ จนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติของสวีเดน ได้รับเหรียญรางวัลมากมาย เลน่าเป็นคนร่าเริงแจ่มใจเธอดูแลตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง เธอทำอาหารได้ ทำงานฝีมือได้ ถ่ายรูปได้ ขับรถได้ เธอพูดถึงความพิการของเธอไว้อย่างน่าคิดว่า
“ฉันไม่เคยคิดถึงความพิการของตัวเองในแง่ลบ ฉันมักคิดว่าฉันก็เป็นเหมือนคนอื่น ๆ เพียงแต่ทำบางสิ่งบางอย่างที่ต่างไปจากคนอื่นบ้าง” (จากหนังสือบันทึกจากปลายเท้า เลน่า มาเรีย คลิงวัลล์ เขียน อุลล่า ฟิวสเตอร์ และสมใจ รักษาศรี แปล จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบุ๊ค จำกัด)
จาก http//socialscience.igetweb.com